‘ถ้ายังมีโอกาส…’

“ห้องเรียนสมัยประถมจัดให้ ‘คนได้ที่หนึ่ง’ นั่งติดกับ ‘คนได้ที่สุดท้าย’ แล้วคนที่เหลือนั่งเป็นคู่ตามลำดับจนครบทั้งห้อง ทางโรงเรียนบอกว่า อยากให้คนเก่งช่วยสอนคนอ่อน ตอน ป.3 เราได้ที่หนึ่ง ส่วนเขาได้ที่สุดท้าย ทางบ้านสนับสนุนให้เราเรียนพิเศษมาตลอด พอเริ่มเรียนก็เข้าใจเนื้อหาหมดแล้ว ขณะที่เขายังอ่านหนังสือไม่ค่อยได้เลย เวลาครูสั่งงานอะไรแล้วให้ส่งพร้อมกัน เราทำเสร็จก่อน แต่เขาทำเสร็จช้า ตอนนั้นอึดอัดมาก แทนที่จะได้ไปเล่นกับเพื่อน ต้องเสียเวลานั่งสอน เราเคยพูดออกไปว่า ‘แค่นี้ก็ไม่รู้ ทำไมโง่จังเลย’ ตอนนั้นเขานิ่ง ไม่ได้ตอบอะไร เราเคยพูดด้วยว่า 'พ่อแม่ไม่สอน หรือไม่พาไปเรียนพิเศษเหรอ' เพราะเข้าใจว่าเด็กทุกคนคงเรียนพิเศษเหมือนเรา เรารู้สึกว่าเขามาถ่วง เลยไม่อยากใกล้ชิด ตอนนั้นเขยิบโต๊ะออกห่างและไม่ให้ยืมอุปกรณ์การเรียน พอต้องเจอกันทุกวัน ในใจคิดอยู่ตลอดว่า เจออีกแล้วเหรอ ถ้าวันไหนเขาไม่มาเรียน เราจะดีใจมาก

“เราเรียนห้องเดียวกันถึง ป.5 เพราะโรงเรียนจะคัดห้องตามผลการเรียนตอนขึ้น ป.6 หลังจากนั้นก็ไม่เจอกันอีก ไม่เคยนึกถึง ไม่เคยใส่ใจว่าตัวเองทำอะไรไว้ จนกระทั่งตอน ม.ปลาย แม่มาเล่าให้ฟังว่าเขาเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากทางบ้านไม่ได้มีฐานะ เขาเลยไม่ได้เรียนต่อมัธยม ต้องทำงานในไซต์ก่อสร้าง แล้วขับรถบรรทุกตกเหว พอได้ยินก็ตกใจ ภาพที่ตัวเองทำอะไรกับเขาไว้ขึ้นมาเลย เราเคยนั่งข้างกัน เคยเขยิบโต๊ะออกห่าง เคยพูดจาไม่ดี แล้วไม่ใช่แค่ครั้งเดียวด้วย สำหรับเด็กอายุแค่สิบขวบ คำพูดแบบนั้นคงรุนแรงมาก เขาคงเสียใจและน้อยใจ เพราะถ้าเลือกเกิดได้ ทุกคนก็อยากเกิดในครอบครัวที่มีความพร้อมกันทั้งนั้น ตอนนั้นเราเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว เพราะช่วง ม.ต้น เราเคยตัดผมสั้น แล้วแม่พูดว่า 'เป็นผู้หญิงดีๆ ทำไมไม่ชอบ' (เงียบคิด) เรานิ่ง ไม่ได้ตอบอะไร แต่เป็นคำพูดที่เจ็บมาก เวลาผ่านไปเรากับแม่ถึงมาทำความเข้าใจกัน

“เหตุการณ์เหล่านั้นค่อยๆ ชัดเจนขึ้นตอนเรียนมหาวิทยาลัย (คณะเทคนิคการแพทย์) เราได้เรียนวิชาจิตเวช ทำให้เข้าใจคำว่าโรคซึมเศร้า คำว่าเฮทสปีช (Hate Speech) และคำว่าบูลลี่ (Bully) บางคำพูดอาจรุนแรงสำหรับบางคนมาก เพราะความรู้สึกของคนไม่มีอะไรมาวัด ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องเล็กเลย ช่วงนั้นเราไม่ใช่คนเก่งที่สุดแล้ว วิชาสรีรวิทยายากมาก เพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นนักเรียนโอลิมปิก เราเลยขอให้ช่วยอธิบาย เขาอธิบายซ้ำๆ โดยไม่บ่น ไม่ด่า ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ตอน ป.3 (เงียบคิด) นึกแล้วก็รู้สึกผิดนะ ทำไมเราไม่ทำแบบนี้บ้าง ทุกวันนี้ใครให้สอนอะไร เราจะตั้งใจอธิบาย ไม่บ่น ไม่ด่า ไม่ตัดสินใครว่าโง่แล้ว เวลาใครมาขอความช่วยเหลือ นั่นหมายความว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ถ้าช่วยได้ เราช่วย แล้วเอาจริงๆ มันไม่ได้เสียเวลาอะไรมากเลย
“พูดแล้วก็เสียใจนะ ทำไมตอนนั้นคิดไม่ได้ ตอนนี้เล่าออกมายังรู้สึกผิดเลย เราอายตัวเองมาก (เสียงเบา) เวลาดีใจเรื่องอะไร ไม่นานความรู้สึกนั้นก็หายไป แต่เวลารู้สึกผิดเรื่องอะไร ความรู้สึกกลับอยู่นานกว่า มันคอยเตือนให้ระวังว่า ถ้าทำแบบนั้นจะเสียใจแบบนี้ เรารู้สึกผิด รู้แล้วว่าไม่ควรทำ อยากขอโทษเขา แต่ก็ทำไม่ได้แล้ว (เงียบ ถอนหายใจ) ใครเคยพูดไม่ดีกับคนอื่นไว้ ถ้าเป็นไปได้ควรขอโทษกันนะ อย่างน้อยเขาก็ได้รับรู้ว่า เรารู้สึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป ถ้ายังมีโอกาส ขอโทษเขาเถอะค่ะ”

ใครคิดว่าคำพูดของตัวเองที่เอามาหยอกล้อกันเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คิดได้ว่าไม่น่าทำ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่เคยคิด และปัจจุบันยังรู้สึกผิดและติดค้างในใจ แม้ว่าย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรไม่ได้ อย่างน้อยคำว่า ‘ขอโทษ’ ก็เป็นการรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในอดีตอย่างจริงใจที่สุดแล้ว
Back to Top